การผจญภัย
ผักDone เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทัศนคติใหม่ต่อการคัดแยกและจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการเป็นตัวกลางส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้ ทำให้ทัศนคติต่อเรื่องการคัดแยกและจัดการขยะอินทรีย์ เป็นเรื่องที่มีคุณค่า เป็นเรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่ควรทำ อีกทั้งยังเป็นการคืนทรัพยากรในรูปแบบของปุ๋ยและดินคุณภาพกลับคืนสู่การกระบวนการสร้างอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนอีกด้วย
ด้วยความชอบส่วนตัวในการทำอาหาร ประกอบกับประสบการณ์ใช้ชีวิตในประเทศที่มีทรัพยากรการผลิตอาหารจำกัดถึงสองประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ก่อตั้งสนใจเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยและแหล่งที่มาของอาหาร จึงเกิดเป็นความฝันที่จะสร้างพื้นที่อาหารให้กับตัวเองและครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกจากงาน และลงมือใช้ชีวิตจริงในปี 2558 พื้นที่ที่ลงมือมีปัญหาสภาพดินเป็นดินถมจึงเกิดไอเดียในการนำขยะอินทรีย์มาหมักให้เป็นปุ๋ยและดินให้กับพืช จึงได้เสนอโครงการขยะทองคำ ในโครงการปลูกเมือง ปลูกชีวิต ของสวนผักคนเมือง โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน จนได้เข้ารอบรับรางวัลสนับสนุน การเข้าร่วมโครงการของสวนผักคนเมือง ทำให้เราได้ลงมือจัดการกับขยะอินทรีย์ในชุมชน ตำบลคลองสี่ อย่างเป็นรูปธรรมและมีแบบแผนมากขึ้น โดยตอนนั้น เราเน้นการสร้างปัจจัยการผลิตและเพาะปลูกให้กับคนเมือง สร้างแหล่งดินคุณภาพ จากการนำเอาขยะอินทรีย์มาหมักให้เกิดประโยชน์และลดการส่งขยะไปสู่แหล่งฝังกลบ เมื่อได้ลงมือทำ เราเริ่มอินกับปัญหาขยะมากขึ้น เห็นความน่ากลัวจากผลกระทบของขยะที่เราทุกคนสร้างขึ้น จนเริ่มรู้สึกว่าปัญหาของขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกคน พฤติกรรมของตัวเราเองก็เริ่มเปลี่ยนไป ด้วยการลดการสร้างและพยายามจัดการขยะของเราเอง จึงเป็นที่มาของความตั้งใจที่จะสร้างระบบในการจัดการขยะ โดยเน้นขยะอินทรีย์ในเบื้องต้น ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการขยะด้วยตนเอง ลดปัญหาและภาระให้กับรัฐบาล สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีให้กับสังคม โดย มุ่งเน้นการเปลี่ยนทัศนคติมุมมองเรื่องขยะ ให้เป็นเรื่องง่าย ในการจัดการ เป็นเรื่องสนุกที่สร้างคุณค่า และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยกัน
จุดหมายปลายทาง (วิสัยทัศน์)
ผักDone มีเป้าหมายมุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคม เปลี่ยนเรื่องทัศนคติและมุมมอง สร้างระบบและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมืองในเรื่องการจัดการขยะ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
พาหนะขับเคลื่อน (พันธกิจ)
พัฒนาเครื่องมือ ตัวอย่างและระบบการจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ส่งเสริมการคัดแยก จัดการและนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม