Singapore Youth Forum
ต้องขอบคุณพี่บอยและพี่จือแห่ง School of Changemakers ที่ให้โอกาสเข้าร่วมโครงการ The Youth Impact on Sustainable development goals in ASEAN และ Global Compact Network Singapore ที่สปอนเซอร์ค่าเดินทางและที่พักให้กับผู้ร่วมงานชาวอาเซียน +3 ในวันที่ 17-18 มีนาคม 2561
เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัด ASEAN Summit เป็นลำดับถัดไป การนั่งบนโต๊ะอาหารจึงเป็นการเรียงลำดับตามเจ้าภาพก่อนหลัง
ไฮไลท์ของงานเห็นจะเป็นมื้อค่ำวันสุดท้ายที่อาหารแทบจะไม่ตกถึงท้อง เพราะอาหารสมองจัดมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากได้นั่งทานอาหารข้างๆ Mr. Masagos Zulkifli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำของสิงคโปร์ บุคคลผู้ถือเป็นผู้นำหัวก้าวหน้าอีกคนหนึ่งของสิงคโปร์เลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสิงคโปร์ถึงก้าวหน้ามากทั้งที่มองไปทางไหนในประเทศนี้ก็ดูจะมีข้อจำกัดไปหมด
ผู้นำของสิงคโปร์เน้นการใช้จุดแข็งที่ตนเองพัฒนาได้และมีกำลังพอ นั่นคือการเลือกที่จะพัฒนาคน ทรัพยากรหนึ่งเดียวที่ประเทศนี้มี รู้สึกขนลุกไปกับวิสัยทัศน์ของ Lee Kuan Yew จริงๆ ทั้งการให้ความสำคัญกับจุดอ่อนคือผืนดินที่มีจำกัด ใช้การแก้ไขด้วยการวางแผนเมืองอย่างพิถีพิถันและก้าวล้ำ
ประกอบกับการเลือกที่จะพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียนและไม่แพ้ชาติใด ในระดับเวทีโลก เพื่อการบริหารเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างที่ดีมากที่ได้ไปเยี่ยมเยียนในครั้งนี้คือ Maritime Port Authority of Singapore ที่มีเรือเข้าออกถึง 800 – 1,000 ลำต่อวัน ถือว่าเป็นท่าเรือที่ยุ่งที่สุดของโลกเลยทีเดียว นั่นหมายถึงการทำงานที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และมีแผนสำรองเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินเป็นเกณฑ์ที่ขาดไม่ได้ เพราะอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยส่งผลกระทบในวงกว้าง เป็น domino effect เลยทีเดียวทั้งในด้านธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม Maritime Port ยังยึดถือ Sustainability เป็นหลักอีกด้วย ซึ่งพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เรื่องของปะการัง ไปจนถึงน้ำมันและสีทาเรือ

กลับมาเรื่องของแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำ สิงคโปร์วางตัวเองเป็นศูนย์รวมของเทคโนโลยี และพยายามกระจายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ท่านรัฐมนตรีบอกว่าสิงคโปร์ยินดีมากที่ประเทศอื่นๆ จะมาเรียนงานกับสิงคโปร์ เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ขอให้ความรู้ที่สิงคโปร์สังเคราะห์ขึ้นได้กระจายไปใช้ให้ได้มากที่สุด เพราะด้วยความเล็กของประเทศสิงคโปร์เขาจึงเข้าใจว่า ความยั่งยืนหรือ sustainability นั้นไม่สามารถทำได้ชาติเดียวแต่มันคือการรวมมือกันของทุกประเทศทุกพื้นที่ทั่วโลก
อีกเรื่องคือแนวคิดเองพลังงาน ที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่า Fossil fuels ยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถเก็บและใช้งานได้ดีที่สุด ต่างจากพลังงานสะอาดที่มักจะมาตอนที่ไม่ได้ใช้และต้องใช้ตอนที่ไม่มี เป็นเรื่องของการกักเก็บพลังงานที่พลังงานทางเลือกนั้นยังคงเป็นปัญหา ซึ่งปัญหาห่วงโซ่ที่ตามมาคือแบตเตอรี่ที่จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อเป็นทอดๆไป ฉะนั้นสิงคโปร์จึงมุ่งเน้นการลดการใช้รถยนต์ ทำให้การมีรถยนต์นั้นเป็นภาระทางการเงินมากกว่าความสะดวกสบายทางกาย และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคมนาคมในประเทศ โดยตั้งเป้าว่าในไม่กี่ปีข้างหน้านั้นคนสิงคโปร์ทุกคนจะสามารถเข้าถึงยานพาหนะประจำทางภายในการเดินเพียง 5 นาที
ช่างเป็นดินเนอร์ที่สร้างความบันเทิงให้กับสมองจริงๆ
เห็นความคิดก้าวหน้าของรัฐมนตรีคนนี้แล้วจึงอดที่จะถามถึงเรื่องการจัดการขยะในสิงคโปร์ไม่ได้ สงสัยว่าทำไมสิงคโปร์ถึงไม่มีการคัดแยกขยะทั้งๆที่ระบบ และผู้บริหารประเทศน่าจะมีประสิทธิภาพพอที่จะทำเรื่องนี้ได้อย่างง่าย คำตอบที่ได้คือระบบการจัดการขยะของสิงคโปร์ถูกวางไว้แบบที่มีเป้าหมายทำให้เมืองสะอาด การให้คนทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางอย่างง่ายๆจึงถูกสร้างขึ้น โดยมี Chute หรือระบบทิ้งขยะภายในอาคารทำให้การทิ้งขยะเป็นเรื่องง่าย สะดวกสบายและไม่สามารถจับมือใครดมได้ เมื่อการต้องการให้เกิดการคัดแยก ท่านรัฐมนตรีเน้นการใช้เทคโนโลยีมากกว่าการบ่มเพาะเปลี่ยนนิสัย ทัศนคติของคน
Citizen Farm
ถึงแม้จะมีเวลาไม่มากกับการเดินทางครั้งนี้ แต่ก็ยังสามารถเบียดเสียดเวลาพาน้องๆคนไทยไปเยี่ยมองค์กรที่ชื่อว่า citizen farm ถือว่าคิดไม่ผิดจริงๆ Citizen farm มีแนวคิดคล้ายๆ กับผักDone ที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ (circular economy) ลดการถลุงทรัพยากรเพิ่ม เน้นการใช้ขยะให้กลับมาก่อเกิดมูลค่ามากที่สุด
ผู้ก่อตั้ง Citizen Farm นามว่า Darren Ho พาพวกเราคนไทยชมสวนพร้อมชวนให้ทานต้นไม้ ดอกไม้ในสวน แล้วบรรจงหยิบดอกผีเสื้อราตรีแล้วบอกว่าชิมดู ทำให้ตกใจนิดๆ เพราะว่าหนึ่ง..ทานได้จริงหรือ และสอง..อดที่ถามไม่ได้ว่าไปได้ความรู้มาแต่ใด
Darren บอกว่าส่วนหนึ่งเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ของสิงคโปร์ ขนาดประเทศสิงคโปร์ที่ดูจะก้าวหน้า ผู้คนลืมรากเหง้าของตัวเอง ก็ยังมีปราชญ์ผู้ยังคงการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งนี่ก็เป็นงานอีกเรื่องที่ผู้เขียนสนใจมากคือความรู้ ภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กำลังสูญหายไปตามกาลเวลาทุกทีๆ

Credit Photoes: Prinyapa Yooprasert
ที่ฟาร์มคนเมืองแห่งนี้ผสมผสานความรู้ดั้งเดิม กับเทคโนโลยีใหม่ๆในพื้นที่เดียวกัน ในพื้นที่เดียวมีทั้งห้องแลปที่ปลูกเห็ดจากวัสดุเหลือทิ้ง ผักสลัดที่ปลูกโดยใช้แสงไฟและน้ำจากการเลี้ยงปลา หรือ aquaponics สู่พื้นที่โล่งในอาคารที่เป็นทั้งพื้นที่อบรมและจุดโชว์สินค้าและวัตถุดิบแปรรูปที่กำลังอยู่ระว่างการทดลอง ออกสู่สวนที่มีทั้งเทคโนโลยีการปลูกพืชแนวตั้ง ไปจนกระทั่งการปลูกพืชบนดินแนวระนาบดั้งเดิม การนำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นภาชนะเพาะปลูก ตามด้วยโรงเรือนเลี้ยง Black Soldier fly หรือแมลงวันลายเสือที่เป็นผู้ช่วยชั้นดีในการย่อยขยะอินทรีย์และเป็นอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ซึ่งผู้เขียนตั้งตารอคอยมาดูเป็นพิเศษ