เมื่อต้องเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย คนส่วนใหญ่มักพยายามมองหา “สูตร” เพื่อร่นระยะเวลาของการเรียนรู้ให้สั้นลง และสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น
สัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง (1 : 1) ระหว่างปริมาณขยะจากเศษอาหารกับวัสดุหมักตั้งต้น หรือที่เรียกว่า Compost Starter บวกการโรยน้ำตาล ก่อนคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเทลงกล่อง จึงถือเป็น “สูตรเริ่มต้น” สำหรับการใช้กล่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหารที่ทุกคนสามารถจำและทำได้ง่ายที่สุด
“สูตรช่วยให้สิ่งที่ทำง่ายขึ้นแต่สิ่งสำคัญคือการสังเกตและความใส่ใจ…”
หมายความว่า ถ้ามีขยะเศษอาหาร 1 ถ้วย ก็ใช้ Compost Starter 1 ถ้วย ถ้าขยะเศษอาหาร 5 ถ้วย ก็ใช้ Compost Starter 5 ถ้วยด้วยเช่นกัน จากนั้นจึงคลุกผสม โรยน้ำตาล (เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ใน Compost Starter ลุกมาทำงานจัดการเขมือบเศษอาหาร) คลุกอีกครั้ง ก่อนเทลงถังหมัก แล้วปิดฝา
ทำเช่นนี้ทุกครั้งเมื่อมีขยะเศษอาหาร จากประสบการณ์ใหม่ กลายเป็นความชำนาญ จากสูตรเริ่มต้น กลายเป็นสูตรเฉพาะที่เหมาะกับลักษณะหรือประเภทของเศษอาหารที่แตกต่างกันไปตามวิถีการกินของแต่ละบ้าน
“สูตรช่วยให้สิ่งที่ทำง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการสังเกตและความใส่ใจ ทุกครั้งที่เราเปิดกล่องก็จะเห็นแล้วว่าสภาพมันเป็นอย่างไร ถ้าแฉะไป เริ่มมีกลิ่นเหม็นเน่า เพราะมีน้ำไปอยู่แทนที่อากาศ ก็แก้ด้วยการใส่ Compost Starter เข้าไปช่วยดูดซับความชื้น ถ้าแห้งไปก็พรมน้ำ เพิ่มความชื้น เพื่อให้สภาพภายในกล่องกลับมาสู่สภาวะที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์” คุณชูเกียรติ โกแมน นักไบโอเทค เกษตรกรคนเมือง ที่ปรึกษาผักDone กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของการอบรมเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีค่า
เมื่อเราได้ลงมือทำจริงเราจะพบว่า สูตรที่เรียนรู้กันไปในครั้งแรกนั้น อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการจัดการขยะเศษอาหารที่บ้านเรา
“…ความสนุกหรือความสุขมันคือการทดลองสิ่งที่เหมาะกับบ้านของตัวเอง ได้เรียนรู้สิ่งที่กิน… ได้เรียนรู้ว่าตัวเองกินอะไรแล้วเหลือก็แสดงว่าไม่ชอบอันนั้นก็ไม่ต้องซื้อมาอีก”
หม่อมหลวงเต่านา (มล.มิ่งมงคล โสณกุล) บุคคลหนึ่งที่สนใจและใส่ใจเรื่องมลภาวะและการจัดการขยะ ได้เคยให้ทัศนะต่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เมื่อครั้งมาร่วมกิจกรรมอบรมเปลี่ยนขยะกับผักDone ว่า “การจะลดมลภาวะและของเสียให้ยั่งยืน หนึ่ง-ต้องทำให้มันง่ายที่สุด และสอง-ต้องไม่ให้เครียด หมายความว่าคุณต้องสนุกและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าคุณทำขยะ โอกาสที่คุณจะพังมันมีน้อยมาก เพราะมันเป็นของเสียเป็นขยะอยู่แล้ว ถ้าน้ำเยอะไป มันเริ่มมีกลิ่นเน่า เราก็เทน้ำออก ทำให้มันแห้งลง ให้ออกซิเจนมันเข้า มันก็หายแล้ว ความสนุกหรือความสุขมันคือการทดลองสิ่งที่เหมาะกับบ้านของตัวเอง อย่างที่บ้านทานเนื้อสัตว์เยอะ ความสุขของเราก็คือการได้ทดสอบว่า กระดูกหมู กระดูกไก่ กระดูกวัว อันไหนย่อยเร็วกว่ากัน แล้วก็ได้เรียนรู้สิ่งที่กิน อย่างขนมปังโฮลวีตแบรนด์หนึ่งย่อยช้ากว่ากระดูก แปลว่าเขาใส่สารอะไรบางอย่างมาหนักมาก ได้เรียนรู้ว่าตัวเองกินอะไรแล้วเหลือก็แสดงว่าไม่ชอบอันนั้นก็ไม่ต้องซื้อมาอีก นี่ได้เรียนรู้ตัวเองด้วยนะ”
เมื่อต้องเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เราจึงมักเริ่มต้นจากสูตรที่จำง่ายและทำได้จริง ต่อเมื่อได้ทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เราจะพบสูตรใหม่ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเรา สูตรเฉพาะตัวสำหรับครอบครัวสำหรับบ้านเรา หรือบางทีอาจไม่มีสูตรอะไรเลย เหมือนที่คุณชูเกียรติ บอกไว้ “สูตรช่วยให้สิ่งที่ทำง่ายขึ้น แต่ถ้าเรายึดเอาแต่สูตรมัวแต่ทำตามสูตร ความสุขของเราก็จะน้อยลง”
“การทำปุ๋ยควรต้องมีความสุข หาความสุขให้ได้จากสิ่งที่ทำ”
เช่นเดียวกับที่หม่อมหลวงเต่านา กล่าว “การทำปุ๋ยควรต้องมีความสุข หาความสุขให้ได้จากสิ่งที่ทำ”
ขอให้ทุกท่านได้เจอสูตรสำคัญของการหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร สูตรแห่งความสุขจากความตั้งใจช่วยลดขยะ